คัมภีร์ที่มีอายุ ๒๓๐ ปี (เลขที่
วท.๔๒๒ หัตถสาร อภิธัมมาวตารวัณณนา)
คัมภีร์ใบลาน
เลขที่ วท.๔๒๒/๑-๑๕ เรื่อง หัตถสาร อภิธัมมาวตารวัณณนา
มีชื่อแบบฉบับตามหลักวิชาการว่า หตฺถสาร อภิธมฺมาวตารวณฺณนา เป็นคัมภีร์ใบลาน
ฉบับทองทึบ ร.๑ มีสภาพสมบูรณ์ครบชุด ชนิดลานยาว เส้นจาร หน้าละ ๕ บรรทัด
จำนวนทั้งสิ้น ๑๕ ผูก ใบปกหน้าจารชื่อเรื่องด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย ข้อความว่า
“พฺรหตฺถสาร ผูก ๑ บั้นปลาย”
ชื่อเรื่อง
เป็นการจารแบบผสมระหว่างอักษรขอมบาลี(หตฺถสาร) และอักษรขอมไทย(พฺร, ผูก ๑,บั้นปลาย) ซึ่งเป็นแบบธรรมเนียมการจาร
โดยแสดงชื่อเรื่องไว้บนหน้าปกเพื่อให้ทราบว่าเป็น “พระหัตถสาระ ผูก ๑ บั้นปลาย”
คำว่า “บั้นปลาย” หมายถึงภาคปลายมีทั้งหมด ๑๕ ผูก ตั้งแต่ผูก ๑ ถึง ผูก ๑๕
เรียกว่ามีครบชุด
เนื้อเรื่อง ตลอดคัมภีร์ตั้งแต่ต้นจนจบ
จารด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี
เป็นคัมภีร์ปกรณ์พิเศษส่วนพระอภิธรรมปิฎกเกี่ยวกับการอรรถาธิบายพระอภิธรรม
อธิบายขยายความในสภาวธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจิต
ประวัติ
พบข้อความกล่าวถึงปีที่สร้างคัมภีร์ฯ ผู้สร้างคัมภีร์
และประวัติความเป็นมาที่ใบรองปกหน้า คัมภีร์หัตถสาร ผูกที่ ๑ จารด้วยอักษรขอมไทย
ภาษาไทย จำนวน ๑ หน้าใบลาน ดังนี้
“สุภมสฺสดุพฺรพุทฺธสกฺกราชล่วงแล้วได้ ๒๓๓๑ พฺรวสฺสาปีวอก สำรฤทิสก ครั้งตั้งพฺรนครรตนโกสินฺทอินฺทอยุธยานั้น
สมเด็จพฺรมหากฺรษตฺรมรมฺมธรรมิกราชาธิราช เจ้าผู้เป็นพระเชฏฺฐา และสมเด็จอุปราชผู้เปนพฺรอนุชาธิราช
ทั้งสองพฺรองฺคธรงพฺรราชศรทฺธา
ปราฏฐนาพฺรปรมาภิเสกสฺมมาสมฺโพธิญาณธรงพฺรอุสฺสาหทนุบำรุงพฺรบวรพุทฺธสาสนา
เปนสาสนูปถมฺภก ให้ปฺรชุมพฺรสฺงฆเถรานุเถรอันรู้พฺรไตฺรยปิฏก ๒๑๘ พฺรองฺค
ราชปณฺฑิต ๓๒ คน พร้อมกันในพฺรมหาสุวณฺณมณฺฑป น วัดพฺรสีสันเพ็ชฺชตานิพฺพานาราม
ชำรพฺรไตฺรยปิฏก พฺรปาฬี แลพฺรอฏฺฐกถาฏีกา แลอนุฏีกาโยชนา แลทิปนีทั้งปวง
แต่บนฺดาที่มีอักษรและบทอันพิรุธนั้น ดูสอบกันตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้อง
ให้มีอตฺถพฺยญฺชน อันบริสุทธิ์ บริบูรณ แล้วให้จำลองขึ้นลานใหญ่
ตกตัวหนึ่งผลัดปฺราศจากเส้นหมึก ปิดทองทึบ ปิดทองใบปกหน้าหลัง
ห่อคัมภีรผ้ายกเชินขึ่นไว้ในโยวมณฺฑปรตงนมุตตา
อันปฺรดิสฺสถานในพฺรมหาสุวณฺณมณฺฑปมนฺทิรธมฺมนวัดพฺรสีรตนสาสฺดาราม
อุทฺทิสส่วนพฺรราชกุศลนี้ ให้แก่สรรพสัตว์ในอนันตจกฺกวาฬฯ พฺรหตฺถสาร บั้นปลาย
คัมภีรนี้ ๑๕ ผูก ๒ ลาน พฺรมหาสงฺฆปริญฺตติ เอก วัด พลับ ชำร ทาน นายมาช่างจาร
จำลอง ลบ หลวงธมฺมาพิมล แลนายตุล ราชปณฺฑิต
เปนอุปการให้สำเร็จการเบ็ดเสฺร็จบริบูรณ์โดยสิริสฺวตฺติ ฯ พฺรหตฺถสารบั้นปลาย”
ข้อความดังกล่าวทำให้ทราบว่า
สมเด็จพระมหากษัตริย์บรมธัมมิกราชาธิราชและสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาปรารถนาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
จึงโปรดให้สร้างคัมภีร์ใบลานเรื่องหัตถสาร ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
พร้อมกับการชำระพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา ทีปนี ทั้งปวง
ซึ่งถือเป็นการสังคายนาชำระพระไตรปิฎกครั้งแรกต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พร้อมทั้งอุทิศส่วนพระราชกุศลนี้ให้แก่สรรพสัตว์ในอนันตจักรวาล
แสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก
สรุป คัมภีร์ใบลานเลขที่ วท.๔๒๒/๑-๑๕ เรื่องหัตถสาร อภิธัมมาวตารวัณณนา ฉบับทองทึบ ร. ๑ อักษรขอม ภาษาบาลี พ.ศ. ๒๓๓๑ เป็นคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง สมัยรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
*เขียนโดย คุณวัฒนา พึ่งชื่น นักภาษาโบราณชำนาญการ หน่วยงานกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม